เกี่ยวกับภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์
ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ (ชื่อเดิมคือ ภาควิชาฟิสิกส์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ในปี พ.ศ. 2553) เกิดขึ้นมาพร้อมกับ คณะวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2507 โดยหัวหน้าภาควิชาท่านแรกคือ ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มีคณาจารย์เริ่มแรก 8 คน เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตฟิสิกส์ และได้จัดการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์สำหรับนักศึกษาวิชาเอกฟิสิกส์และวิชาฟิสิกส์พื้นฐานสำหรับนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ของทุกคณะ เมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งคณะวิทยาศาสตร์รับนักศึกษามากขึ้น ภาควิชาก็รับคณาจารย์เพื่อรองรับการขยายตัว รวมถึงการเปิดหลักสูตรเพื่มขึ้น ทั้งปริญญาตรี โท เอก
หลักสูตรที่เปิดสอน
ปัจจุบันภาควิชาฟิสิกส์ฯ เปิดสอน หลักสูตรระดับปริญญาตรี 2 สาขาวิชา ระดับปริญญาโท 5 สาขาวิชา และหลักสูตรระดับปริญญาเอก 3 สาขาวิชา นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรร่วมในระดับปริญญาโท อีก 1 สาขาวิชาโดยได้เริ่มเปิดสอน ดังนี้
ระดับปริญญาตรี
พ.ศ. 2507 ปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์
พ.ศ. 2530 ปริญญาตรีสาขาวัสดุศาสตร์
ระดับปริญญาโท
พ.ศ. 2517 ปริญญาโทสาขาฟิสิกส์
พ.ศ. 2517 ปริญญาโทสาขาการสอนฟิสิกส์
พ.ศ. 2539 ปริญญาโทสาขาฟิสิกส์ประยุกต์
พ.ศ. 2542 ปริญญาโทสาขาวัสดุศาสตร์
พ.ศ. 2557 ปริญญาโทสาขาดาราศาสตร์
ระดับปริญญาโทหลักสูตรร่วม
พ.ศ. 2532 ปริญญาโทสาขาธรณีฟิสิกส์ประยุกต์
ระดับปริญญาเอก
พ.ศ. 2539 ปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ (หลักสูตรปกติและนานาชาติ)
พ.ศ. 2542 ปริญญาเอกสาขาวัสดุศาสตร์
พ.ศ. 2551 ปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ประยุกต์
บุคลากร
ภาควิชาฟิสิกส์ฯ มีบุคลากรทั้งสิ้น 94 คน ประกอบด้วย คณาจารย์ 62 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน 23 คน และเจ้าหน้าที่อาคารสถานที่ 9 คน
อาคารสถานที่
อาคารฟิสิกส์ 1
อาคารฟิสิกส์ 2
อาคาร 30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ ชั้น 3, 4
อาคาร 40 ปีคณะวิทยาศาสตร์ ชั้น 4(บางส่วน) และชั้น 5, 6
อาคารนิวตรอนพลังงานสูง
หอดูดาวสิรินทร
อาคารไอออนบีมเทคโนโลยี 1
อาคารไอออนบีมเทคโนโลยี 2
อาคารโรงงานเครื่องมือกล
งานวิจัย
งานวิจัยเริ่มแรกของภาควิชาฯ เริ่มต้นใน ปี พ.ศ. 2510 ในด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ โดยการนำของศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ เจริญขวัญ (หัวหน้าภาควิชาคนที่ 2) จากนั้นก็ขยายเพิ่มเรื่อยมาและมากขึ้นในหลายๆ ด้านเมื่อมีการรับนักศึกษาบัณฑิตศึกษา และมีคณาจารย์เพิ่มขึ้น ปัจจุบันภาควิชาฯ มีงานวิจัยที่ประสพความสำเร็จ มีชื่อเสียงและสามารถผลิตผลงานวิจัยได้หลากหลายสาขา ดังนี้
พลาสมาและไอออนบีมฟิสิกส์: การปรับปรุงยีนพันธ์ข้าว อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ผ้ากันน้ำ
ฟิสิกส์ประยุกต์: เครื่องวัดแอลกอฮอลแบบพกพา เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสง
ฟิสิกส์การสอน: การศึกษาหลักการทางฟิสิกส์ผ่านกล้องความไวสูง การออกแบบการทดลองทางฟิสิกส์
ดาราศาสตร์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์: การศึกษาระบบดาวคู่และกาแลกซี การเกิดกลุ่มดาว
เลเซอร์และทัศนศาสตร์ประยุกต์: การเรืองแสงที่ถูกกระตุ้นด้วยเลเซอร์ การทำสเปกโทรสโคปีโดยการกระเจิงโฟตอน
ฟิสิกส์บรรยากาศและสิ่งแวดล้อม: การศึกษามลภาวะและสภาพอากาศโดยใช้เครื่องมือวัดและแบบจำลองเชิงตัวเลข การศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกที่มีต่อระดับภูมิภาค
เศรษฐฟิสิกส์: การใช้ฟิสิกส์เชิงสถิติในการศึกษาการลงทุน
วัสดุนาโน นาโนเทคโนโลยี: ผลึกนาโนเรืองแสง กระจกทำความสะอาดตัวเอง เกราะกันกระสุนเสริมแรงด้วยท่อนาโนคาร์บอน
ห้องปฏิบัติการวิจัยลำอิเล็กตรอนและโฟตอนห้วงเฟมโตวินาที:
การผลิตรังสีความถี่สูงระดับเทอราเฮิร์ตซ การถ่ายภาพแบบทะลุทะลวงโดยใช้รังสีความถี่
เทอราเฮิร์ตซ
อิเล็กโทรเซรามิกส์: ตัวเก็บประจุพลังงานสูง วัสดุแปลงพลังงานความร้อนเป็นไฟฟ้า วัสดุแก้วเซรามิกแม่เหล็กทางการแพทย์
ซีเมนต์และคอนกรีต: คอนกรีตอัจฉริยะสำหรับตรวจวัดแรง คอนกรีตเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ควอนตัมอะตอมออพติกส์: ไดโอดเลเซอร์ความเสถียรสูง การกักขังอะตอมเดี่ยวโดยเลเซอร์