ข่าว

   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินหน้าโครงการความร่วมมือศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ร่วมพัฒนาเครื่องมือวิจัยเพื่อศึกษาผลกระทบของรังสีคอสมิกที่มีต่อโลก เตรียมส่งเครื่องมือพร้อมนักดาราศาสตร์ลงเรือสำรวจเก็บข้อมูลจากจีนถึงขั้วโลกใต้ รวมระยะเวลา 5 เดือน หวังสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแถลงข่าวโครงการความร่วมมือศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขั้วโลก โดยมีรองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล หัวหน้าโครงการวิจัยการสำรวจตัดข้ามละติจูด (อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มช.) และนายพงษ์พิจิตร ชวนรักษาสัตย์ นักดาราศาสตร์ สดร. ร่วมแถลงข่าว ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หทัยชนก เนียมทรัพย์  รองคณบดีฝ่ายบริหาร และอาจารย์ ดร.มาโนช นาคสาทา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มช. ร่วมงานแถลงข่าวฯ ด้วย ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park) จ.เชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษา สดร.  กล่าวว่า โครงการความร่วมมือศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขั้วโลกครั้งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประเทศไทยศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์บรรยากาศบริเวณขั้วโลกร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และมอบหมายให้ สดร. ประสานงานโครงการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งวันที่ 6 เมษายน 2559  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สดร. กับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (Polar Research Institute of China : PRIC) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน  และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาวิจัยขั้วโลกใต้ (Scientific Committee on Antarctic Research : SCAR) อย่างเป็นทางการในปีเดียวกัน

ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์   สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการวิจัยการสำรวจตัดข้ามละติจูด เป็นความร่วมมือระหว่าง สดร. และ มช. ที่ได้ส่งข้อเสนอต่อสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีนในปี 2561 เพื่อศึกษาผลกระทบของรังสีคอสมิกต่อโลก และได้รับอนุมัติให้นำตู้คอนเทนเนอร์ติดตั้งบนเรือสำรวจวิจัย “เชว่หลง" (Xue Long) หรือ “เรือมังกรหิมะ” ออกเดินทางเก็บข้อมูลจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธาณรัฐประชาชนจีน ไปยังสถานีวิจัยจงซาน (Zhongshan) ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกา โดยตู้คอนเทนเนอร์ติดตั้งเครื่องตรวจวัดนิวตรอนเพื่อใช้ในการวิจัยชื่อว่า “ช้างแวน” (Changvan) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเดลาแวร์ และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ริเวอร์ฟอลส์ สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยชินชู ประเทศญี่ปุ่น ภายในช้างแวนติดตั้งเครื่องมือวิจัยที่จำเป็น มีระบบควบคุมอุณหภูมิภายในให้คงที่ และมีการออกแบบให้เหมาะสมกับการเดินทางทางเรือในอุณหภูมิติดลบ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมมือกับ สดร. ในการพัฒนาความรู้ความสามารถของคนไทย และได้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับโลก

อาจารย์ ดร.วราภรณ์   นันทิยกุล หัวหน้าโครงการวิจัยการสำรวจตัดข้ามละติจูด กล่าวว่า ความคาดหวังของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ คือ ผลลัพธ์ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์  โครงการนี้มีแผนดำเนินการเก็บข้อมูลและศึกษาสเปกตรัมของรังสีคอสมิกในช่วงกว้างของค่าความแข็งแกร่งตัดที่เรือตัดน้ำแข็งเคลื่อนที่ผ่านในปี 2561-2562  ผลการวิจัยครั้งนี้จะนำมาเปรียบเทียบและยืนยันกับผลวิจัยครั้งก่อนหน้านี้ที่ได้สำรวจในลักษณะเดียวกัน จะทำให้เข้าใจสนามแม่เหล็กโลกที่เชื่อมโยงกับสภาพอวกาศได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้มีการดำเนินการต่อเนื่องในทุกๆ ปี เนื่องจากต้องสังเกตการณ์จุดมืดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งมีวัฏจักรประมาณ 11 ปี และขั้วสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ที่มีวัฏจักรประมาณ 22 ปี หากสร้างเครือข่ายในระดับสากลกับกลุ่มวิจัยที่จัดหาเรือตัดน้ำแข็งได้ ก็จะสร้างผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของจุดมืดบนดวงอาทิตย์และการเปลี่ยนขั้วของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ของหัววัดนิวตรอนจากอวกาศควบคู่กันไป หากทำสำเร็จกลุ่มวิจัยวางแผนนำมาใช้จริงในการสำรวจครั้งถัดไปอีกด้วย

ด้านนายพงษ์พิจิตร   ชวนรักษาสัตย์ นักดาราศาสตร์ไทยเพียงหนึ่งเดียวจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่จะได้ร่วมเดินทางไปขั้วโลกใต้ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เดินทางไปศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เพราะนอกจากจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างองค์ความรู้ใหม่แล้ว ยังเป็นประโยชน์และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกที่มีศักยภาพ และในอนาคตอาจจะเป็นโอกาสให้นักศึกษาไทยได้ร่วมเดินทางไปแอนตาร์กติกากับทีมสำรวจ รวมถึงได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยอีกด้วย 

ทั้งนี้ โครงการฯ มีกำหนดส่งคอนเทนเนอร์ช้างแวนที่เสร็จสมบูรณ์ไปยังเซี่ยงไฮ้ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ส่วนเรือสำรวจวิจัยมีกำหนดเดินทางออกจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธาณรัฐประชาชนจีนไปยังทวีปแอนตาร์กติกา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 และจะเดินทางกลับสู่เมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง ในวันที่ 10 เมษายน 2562 รวมระยะเวลาการเดินทางทั้งหมด 5 เดือน