ข่าว

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ
ครั้งที่ 17 
(The Seventeenth Thailand Physics Olympiad  (17th TPhO)
ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2561

----------------------------------------
เยี่ยมชมเว็บไซต์การแข่งขัน 
http://17tpho.science.cmu.ac.th

1. ผู้รับผิดชอบโครงการ

1.1  มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปภัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.)
1.2  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2. หลักการและเหตุผล
     มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน  ได้กำหนดให้มีการจัดแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์และพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานสากล โดยมอบหมายให้ศูนย์ สอวน. แต่ละแห่งสลับกันเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันในแต่ละปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา  และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องโดยครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 16 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8-12 มิถุนายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา นักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขัน อาจารย์ประจำศูนย์ และครูสังเกตการณ์ ได้รับการพัฒนาความรู้ทางฟิสิกส์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล  ทั้งนี้นักเรียนที่สามารถทำคะแนนได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับคัดเลือกให้เข้าอบรมครั้งที่ 1 ในโครงการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
 
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมการแข่งขันดังกล่าว มูลนิธิ สอวน. ได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 17 โดยมีกำหนดการจัดในวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2561 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

3. วัตถุประสงค์
3.1 เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาวิชาฟิสิกส์ระดับมัธยมศึกษาให้ทัดเทียมนานาประเทศ
3.2 เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถทางด้านวิชาการและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น
3.3 เพื่อคัดเลือกนักเรียนให้เข้าอบรมครั้งที่ 1 ในโครงการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ของ สสวท.
3.4 เพื่อให้คณาจารย์จากศูนย์ต่างๆ ได้ฝึกประสบการณ์ในการจัดแข่งขันวิชาการสาขาฟิสิกส์โอลิมปิกระดับประเทศ รวมทั้งได้ร่วมกันวางแผนและพัฒนาหลักสูตรการอบรม ตลอดจนพัฒนาอุปกรณ์ปฏิบัติการและอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน
3.5 เพื่อให้ครูสังเกตการณ์จากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศได้มีประสบการณ์ในการจัดแข่งขันวิชาการสาขาฟิสิกส์ระดับประเทศ

4. ระยะเวลาการแข่งขันและสถานที่
4.1   กำหนดจัดการแข่งขัน: วันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2561
4.2   สถานที่จัดแข่งขัน: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
5. ผู้เข้าร่วมโครงการ 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขัน จำนวน 270 คน ประกอบด้วย

5.1 นักเรียนผู้เข้าร่วมแข่งขันจากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ และนักเรียนจาก สสวท. 106 คน
5.2 อาจารย์ผู้ดูแลศูนย์ จากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ 32 คน
5.3 ครูผู้สังเกตการณ์ จากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ 16 คน
5.4 คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ 15 คน
5.5 คณาจารย์และบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 75 คน
5.6 นักศึกษาพี่เลี้ยงและนักศึกษาช่วยงาน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 40 คน
5.7 คณะกรรมการของมูลนิธิ สอวน. ประมาณ   6    คน
รวม 290 คน


 สำหรับนักเรียนผู้เข้าร่วมแข่งขัน อาจารย์ผู้ดูแลศูนย์ และครูผู้สังเกตการณ์ แยกตามศูนย์ สอวน. เป็นดังนี้

ที่ สถาบัน อาจารย์ผู้แทนศูนย์ ครูผู้ดูแลนักเรียน นักเรียน
1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 1 6
2 มหาวิทยาลัยนเรศวร 2 1 6
3 มหาวิทยาลัยบูรพา 2 1 6
4 มหาวิทยาลัยศิลปากร 2 1 6
5 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์/สถาบันเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าพระนครเหนือ
2 1 6
6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 6 3 18
7 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2 1 6
8 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ 2 1 6
9 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 2 1 6
10 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2 1 6
11 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 2 1 6
12 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2 1 6
13 โรงเรียนเตรียมทหาร 2 1 6
14 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 2 1 6
15 นักเรียนจากโครงการ สสวท. 0 0 10
         
รวม 32 16 106


6. รูปแบบการจัดการแข่งขัน
           การแข่งขันแบ่งออกเป็น การสอบภาคทฤษฎี 4 ชั่วโมง และการสอบภาคปฏิบัติ 4 ชั่วโมง โดยข้อสอบภาคปฏิบัติจะเน้นทักษะการทดลอง อัตราส่วนระหว่างคะแนนภาคทฤษฎีและคะแนนภาคปฏิบัติเป็น 30 : 20 การตรวจข้อสอบและประเมินผล ดำเนินการโดยคณะกรรมการฝ่ายวิชาการโดยอาจารย์ผู้แทนศูนย์จะมีโอกาสชี้แจงเพื่อขอปรับคะแนนของนักเรียนศูนย์นั้นๆ ให้เหมาะสม
 
สำหรับการมอบรางวัล จะมีการจัดลำดับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแกง และรางวัลเกียรติคุณประกาศ โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานที่ตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ผู้แทนศูนย์ นอกจากนั้น ยังมีรางวัลพิเศษต่างๆ ได้แก่ รางวัลคะแนนรวมสูงสุด รางวัลคะแนนภาคทฤษฏีสูงสุด รางวัลคะแนนภาคปฏิบัติการสูงสุด รางวัลคะแนนรวมสูงสุด 4 ภูมิภาค และรางวัลพิเศษ  โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำหรับนักเรียนที่สามารถทำคะแนนได้ตามเกณฑ์จะได้รับคัดเลือกเข้ารับการอบรม ครั้งที่ 1 ในโครงการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ของ สสวท.

7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
3.1  สามารถกระตุ้นให้มีการพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานของระบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ของประเทศ และเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาวิชาฟิสิกส์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ
3.2  ได้กระตุ้นและส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถทางด้านวิชาการและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น
3.3  ได้ตัวแทนนักเรียนเพื่อเข้าอบรมครั้งที่ 1 ในโครงการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ของ สสวท.
3.4  คณาจารย์จากศูนย์ต่างๆ ได้ฝึกประสบการณ์ในการจัดแข่งขันวิชาการสาขาฟิสิกส์โอลิมปิกระดับประเทศ รวมทั้งได้ร่วมกันวางแผนและพัฒนาหลักสูตรการอบรม ตลอดจนพัฒนาอุปกรณ์ปฏิบัติการและอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน
3.5  ครูสังเกตการณ์จากโรงเรียนต่างๆ  ทั่วประเทศได้มีประสบการณ์ในการจัดแข่งขันวิชาการสาขาฟิสิกส์ระดับประเทศ